โรคไตเรื้อรัง ไม่ยากเกินเข้าใจ (Kidney Disease) ไต คือ อะไร?
ไต (Kidneys) เป็นอวัยวะที่มีรูปร่างคล้ายถั่ว อยู่บริเวณใต้ชายโครงด้านหลังทั้ง 2 ข้าง โดยไตแต่ละข้างจะมีหน่วยไต (nephron) ซึ่งทำหน้าที่กรองน้ำและของเสียออกจากร่างกาย
หน้าที่ของไต
1. กรองน้ำ และกำจัดของเสียรวมทั้งสารพิษออกจากร่างกาย
2. ควบคุมสมดุลน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย ตลอดจนควบคุมภาวะความเป็นกรด-ด่างในเลือด
3. สร้างฮอร์โมน Erythropoietin ซึ่งสำคัญกับการสร้างเม็ดเลือดแดง และวิตามินดีที่เกี่ยวข้องกับกระดูก
4. กำจัดสารพิษและยาที่ได้รับออกจากร่างกาย
จะเห็นว่า ไตเป็นอวัยวะที่สำคัญไม่น้อย หากเราไม่ดูแลสุขภาพให้ดี ไตของเราก็อาจจะผิดปกติ ซึ่งอาจเป็นจุดเริ่มต้นของโรคไตเรื้อรัง
รู้จักโรคไตเรื้อรัง
โรคไตเรื้อรัง (Chronic kidney disease) คือ ภาวะที่ไตทำงานได้ลดลง โดยดูจากค่าอัตราการกรองของไตที่ผิดปกติ (estimated Glomerular Filtration Rate, eGFR) หรือไตมีภาวะผิดปกติ เช่น มีโปรตีนรั่วในปัสสาวะ หรือมีความผิดปกติทางรังสีวิทยา เป็นต้น ในระยะเวลามากกว่า 3 เดือนขึ้นไป
ระยะเริ่มแรกมักจะไม่มีอาการ หลายคนอาจไม่ทราบว่าตนเองเป็นโรคไตเรื้อรังถ้าไม่ได้มีการตรวจเลือดหรือปัสสาวะ แต่เมื่อไตทำงานเสื่อมลงจนหน่วยไตเหลือน้อยลง ก็จะมีอาการจากของเสียคั่งในกระแสเลือดและมีอาการต่างๆ ตามมา เช่น ซึมลง คลื่นไส้อาเจียน ฉะนั้นการตรวจสุขภาพไตทุกปีจึงมีความสำคัญเพื่อที่เราจะได้รีบวินิจฉัยและรักษาได้ทันท่วงที
สาเหตุของโรคไตเรื้อรัง
โรคไตเรื้อรังพบได้จากหลายสาเหตุ โดยสาเหตุที่พบบ่อย ได้แก่
1. โรคเบาหวาน
2. โรคความดันโลหิตสูง
3. โรคไตอักเสบ เช่น IgA nephropathy, Lupus nephritis, FSGS เป็นต้น
4. โรคทางพันธุกรรม เช่น โรคถุงน้ำที่ไต (Polycystic kidney disease)
5. โรคไตขาดเลือดจากเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงไตตีบ ซึ่งมักพบได้ในผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด
6. โรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะ มีการอุดกั้นทางเดินปัสสาวะ หรือมีการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะซ้ำหลายครั้ง
7. การได้รับยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs เป็นระยะเวลานาน เช่น ยา diclofenac
#ศูนย์โรคไต #โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ #โรคไตเรื้อรัง #โรคไต #ไตทำงานผิดปกติ #โรคไตอักเสบ #โรคไตขาดเลือด #ไตเทียม #ไตวาย #ไตเสื่อม #อาการโรคไต #ฟอกไต #หน้าที่ของไต #โรคไตเรื้อรัง อาการ #โรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย
ผู้ที่มีความเสี่ยงโรคไตเรื้อรัง และควรเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคไต
1. มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป
2. มีโรคประจำตัวที่เป็นสาเหตุของโรคไตเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง
3. ผู้ที่เป็นโรคที่อาจทำให้เกิดพยาธิสภาพที่ไต เช่น โรค SLE โรคหลอดเลือดหัวใจ
4. ผู้ที่เป็นโรค Gout หรือมีระดับยูริกในเลือดสูง
5. ได้รับสารพิษหรือยาที่ทำลายไต
6. มีประวัติโรคไตเรื้อรังในครอบครัว
7, มีภาวะน้ำหนักเกินหรืออ้วน
8. มีมวลเนื้อไตลดลง ทั้งที่เป็นมาแต่กำเนิดหรือเป็นภายหลัง
ระยะของโรคไตเรื้อรัง
โรคไตเรื้อรังแบ่งเป็น 5 ระยะ โดยแบ่งตามระดับของอัตราการกรองของไต (eGFR)
ระยะของโรคไตเรื้อรัง eGFR (mL/min/1.73 m²) คำนิยาม
ระยะที่ 1 > 90 มีภาวะไตผิดปกติ เช่น มีโปรตีนรั่วในปัสสาวะ แต่อัตราการกรองยังปกติ
ระยะที่ 2 60 - 90 มีภาวะไตผิดปกติ เช่น มีโปรตีนรั่วในปัสสาวะ อัตราการกรองลดลงเล็กน้อย
ระยะที่ 3a 45 - 59 อัตราการกรองลดลงเล็กน้อยถึงปานกลาง
ระยะที่ 3b 30 - 44 อัตราการกรองลดลงปานกลางถึงมาก
ระยะที่ 4 15 - 29 อัตราการกรองลดลงมาก
ระยะที่ 5 < 15 ไตวายระยะสุดท้าย
ค่า eGFR (estimated Glomerular Filtration Rate) คือปริมาณเลือดที่ไหลผ่านตัวกรองของไตในหนึ่งนาที (มล./นาที/1.73 ตร.ม.)
อาการของโรคไตเรื้อรัง
1. ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน พบได้เมื่อการทำงานของไตเริ่มเสื่อมลงในระยะแรก
2. ขาบวมและกดบุ๋ม เกิดจากมีเกลือและน้ำคั่งในร่างกาย หรือมีโปรตีนรั่วมาในปัสสาวะมาก หากบวมมากจะทำให้เกิดอาการหอบเหนื่อยจากการมีน้ำคั่งในปอด ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อชีวิต
3. ความดันโลหิตสูง
4. คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร คันตามร่างกาย อ่อนเพลีย
5. ในเพศหญิงอาจมีการขาดประจำเดือนหรือไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ ส่วนเพศชายจะมีความรู้สึกทางเพศลดลงและการสร้างอสุจิลดลง
อาการของไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย (End stage renal disease)
เมื่อการทำงานของไตลดลงเหลือน้อยกว่าร้อยละ 15 จะมีอาการทางระบบอื่นตามมามากขึ้น เช่น คลื่นไส้ อาเจียน รับประทานอาหารไม่ได้จนมีสภาวะขาดสารอาหาร ความดันโลหิตสูง โลหิตจาง เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ สะอึก บวม หอบเหนื่อย อาจมีอาการหอบจากการคั่งของกรดในร่างกาย หากมีอาการมากและไม่ได้รับการรักษาผู้ป่วยจะซึมลง ซักได้
การรักษาโรคไตเรื้อรัง
การรักษาขึ้นอยู่กับสาเหตุของโรคไตเรื้อรัง ระยะของโรคที่เป็น และโรคร่วมที่มีอยู่ โดยการดูแลรักษา ประกอบด้วย
1. การรักษาเพื่อชะลอการเสื่อมของไต
ควบคุมโรคประจำตัวให้ดี ได้แก่ คุมโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงให้ดี ยาลดความดันบางกลุ่มหรือยารักษาเบาหวานบางกลุ่มก็ช่วยชะลอความเสื่อมของไตได้ การให้ยากดภูมิในผู้ป่วยโรคไตอักเสบ ควบคุมโรคไขมันโลหิตสูง
การควบคุมอาหาร ลดทานอาหารเค็ม รับประทานอาหารโปรตีนให้เหมาะสม ได้รับพลังงานที่เพียงพอ การควบคุมระดับโพแทสเซียมและฟอสฟอรัสในอาหารให้ไม่มากเกินไป อาจมีการจำกัดปริมาณสารอาหารบางชนิด ทั้งนี้ควรปรึกษาแพทย์โรคไตที่ดูแลเพราะผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีการจำกัดอาหารบางชนิดที่ไม่เหมือนกัน ขึ้นกับสาเหตุและระยะของโรคไตเรื้อรัง
การรักษาด้วยยา เช่น ยาลดการดูดซึมฟอสเฟต ยาขับปัสสาวะ ยารักษาภาวะโลหิตจาง ยาลดความดันโลหิต ยาลดไขมันในเลือด และการให้ยาปรับสมดุลกรดด่าง
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น ลดน้ำหนัก งดสูบบุหรี่ ออกกำลังกาย และหลีกเลี่ยงสารหรือยาที่มีผลเสียต่อไต
2. การรักษาด้วยวิธีบำบัดทดแทนไต (Renal Replacement Therapy) คือกระบวนการรักษาผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะที่ 5 เพื่อทดแทนไตที่ไม่สามารถทำงานได้เองตามที่ควรจะเป็น ช่วยขจัดของเสียที่ค้างอยู่ในร่างกาย จะเริ่มมีบทบาทเมื่ออัตราการกรองของไต (eGFR) น้อยกว่า 6 มล./นาที/1.73 ตร.ม. หรือผู้ที่มี eGFR น้อยกว่า 15 มล./นาที/1.73 ตร.ม. ร่วมกับมีภาวะแทรกซ้อนที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา หรือมีภาวะแทรกซ้อนที่อาจเป็นอันตรายรุนแรงต่อผู้ป่วย
สามารถเลือกการรักษาได้ 3 วิธี ดังนี้
การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (Hemodialysis)
วิธีการ การนำเลือดออกทางเส้นเลือดที่แขนหรือคอ ผ่านเข้าเครื่องไตเทียมไปยังตัวกรอง เพื่อขจัดของเสียและน้ำส่วนเกินที่คั่งอยูในร่างกาย แล้วนำเลือดที่ฟอกแล้วกลับคืนสู่ผู้ป่วย ทำให้ระดับของเสียในร่างกายลดลง โดยผู้ป่วยต้องมีการผ่าตัดเตรียมเส้นเลือดให้พร้อมก่อนการฟอกเลือด
ระยะเวลา 4-5 ชั่วโมง/ครั้ง สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง
การล้างไตทางช่องท้อง (Peritoneal Dialysis)
วิธีการ ใส่น้ำยาล้างไตเข้าไปทิ้งค้างในช่องท้อง โดยอาศัยเยื่อบุช่องท้องแลกเปลี่ยนของเสียและน้ำส่วนเกินออกมาที่น้ำยาล้างไต เมื่อครบตามเวลาที่กำหนดก็จะทำการปล่อยน้ำยาล้างไตที่เต็มไปด้วยของเสียและน้ำส่วนเกินทิ้ง พร้อมทำการเปลี่ยนใส่น้ำยาล้างไตถุงใหม่เข้าไป โดยผู้ป่วยต้องมีการผ่าตัดใส่สายยางสำหรับใส่น้ำยาล้างไตทางช่องท้องให้พร้อมก่อนการล้างไต
ระยะเวลา วันละ 4 รอบ ต่อเนื่องกันทุกวัน หรืออาจใช้เครื่องอัตโนมัติช่วยเปลี่ยนน้ำยาแทน (APD; Automated Peritoneal Dialysis)
การปลูกถ่ายไต (Kidney Transplantation)
คือ การผ่าตัดนำไตที่ดีจากผู้บริจาคใส่ไปในผู้รับไต โดยผู้รับไตต้องรับประทานยากดภูมิต้านทานสม่ำเสมอเพื่อป้องกันภาวะปฏิเสธไตที่ปลูกถ่าย ปัจจุบันการปลูกถ่ายไตจัดเป็นวิธีบำบัดทดแทนไตที่มีประสิทธิภาพดีสุด และทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยมีอัตราการอยู่รอดของไตที่ปลูกถ่ายมากกว่าร้อยละ 90 ในช่วงปีแรก
ผู้ให้ไตแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ
ผู้บริจาคไตที่ยังมีชีวิต (Living Donor) คือญาติสายตรง ได้แก่ พ่อ แม่ ลูก ญาติพี่น้องของผู้ป่วย หรือสามี ภรรยา (ให้บริการที่ SiPH)
ผู้บริจาคไตที่เสียชีวิต (Cadaveric Donor) คือ ผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าสมองตาย แต่การทำงานของหัวใจและไตยังปกติ (ผ่านสภากาชาดไทย)