ผู้เขียน หัวข้อ: หมอประจำบ้าน: หืด (Asthma)  (อ่าน 318 ครั้ง)

siritidaphon

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 304
    • ดูรายละเอียด
หมอประจำบ้าน: หืด (Asthma)
« เมื่อ: 06 กันยายน 2024, 18:22:39 pm »
หมอประจำบ้าน: หืด (Asthma)

หืด เป็นโรคทางเดินหายใจเรื้อรังชนิดหนึ่ง  ซึ่งมีภาวะทางเดินหายใจอุดกั้นเนื่องจากหลอดลมตีบเป็นครั้งคราว  ทำให้มีอาการหายใจหอบเหนื่อย เป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง  ส่วนมากมักจะไม่มีอันตรายร้ายแรง  ยกเว้นในรายที่เป็นมากหรือไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง  ก็อาจเกิดภาวะทางเดินหายใจอุดกั้นอย่างถาวร  หรือมีอันตรายถึงตายได้

โรคนี้พบได้บ่อยในคนทุกวัย  มีความชุกสูงสุดในช่วงอายุ 10-12 ปี  ส่วนใหญ่มักมีอาการเกิดขึ้นครั้งแรกตั้งแต่อายุก่อน 5 ปี  ส่วนน้อยที่เกิดขึ้นครั้งแรกในวัยหนุ่มสาวและวัยสูงอายุ

ในบ้านเราเคยมีการสำรวจนักเรียนในกรุงเทพฯ  พบว่ามีความชุกของโรคนี้ประมาณร้อยละ 4-13

ในวัยเด็ก (ก่อนวัยหนุ่มสาว) พบในเด็กชายมากกว่าเด็กหญิงประมาณ 1.5-2 เท่า

ทั่วโลกพบว่าโรคนี้มีแนวโน้มเกิดมากขึ้นในทุกประเทศ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตเมืองที่มีสิ่งแวดล้อม (ได้แก่ มลพิษและสารก่อภูมิแพ้) และวิถีชีวิตที่ส่งเสริมให้เกิดโรคนี้

สาเหตุ

เกิดจากปัจจัยร่วมกันหลายประการ ทั้งทางด้านกรรมพันธุ์ ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย การติดเชื้อ และสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้มีการอักเสบเรื้อรังของหลอดลม ทำให้หลอดลมมีความไวต่อสิ่งเร้าต่าง ๆ มากกว่าคนปกติ เป็นเหตุให้เกิดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อหลอดลม การบวมของเนื้อเยื่อผนังหลอดลม และการหลั่งเมือก (เสมหะ) มากในหลอดลม มีผลโดยรวมทำให้หลอดลมตีบแคบลง เกิดภาวะทางเดินหายใจอุดกั้นชนิดผันกลับได้ (revesible) ซึ่งสามารถกลับคืนเป็นปกติได้เอง หรือภายหลังให้ยารักษา

บางรายอาจมีการอักเสบของหลอดลมอย่างต่อเนื่องนานเป็นแรมปี  หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง  โครงสร้างของหลอดลมจะค่อย ๆ เกิดการเปลี่ยนแปลง  จนในที่สุดมีความผิดปกติ (airway remodeling) ชนิดไม่ผันกลับ (irreversible) ทำให้เกิดภาวะทางเดินหายใจอุดกั้นอย่างถาวร

ผู้ป่วยมักมีประวัติเป็นโรคภูมิแพ้อื่น ๆ (เช่น หวัด ภูมิแพ้ ผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้) ร่วมด้วย และมักมีพ่อแม่ปู่ย่าตายายหรือญาติพี่น้องเป็นหืดหรือโรคภูมิแพ้อื่น ๆ

นอกจากนี้ยังพบปัจจัยที่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้มากขึ้น ได้แก่ ภาวะน้ำหนักเกิน (ทำให้มีอาการกำเริบบ่อย และรุนแรงได้) ทารกคลอดก่อนกำหนด หรือน้ำหนักแรกเกิดน้อย ทารกที่มีมารดาสูบบุหรี่ขณะตั้งครรภ์ การติดเชื้อไวรัสตั้งแต่เล็ก ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไวรัสอาร์เอสวี (ดู "โรคหลอดลมฝอยอักเสบ" เพิ่มเติม) การสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ (ได้แก่ ไรฝุ่นบ้าน) ปริมาณมากตั้งแต่ในช่วงขวบปีแรก

กลไกการตีบแคบของหลอดลมในโรคหืด


สาเหตุกระตุ้น 

ผู้ป่วยมักมีอาการกำเริบเมื่อมีสิ่งเร้าหรือสาเหตุกระตุ้น  ที่พบบ่อยได้แก่

    สารก่อภูมิแพ้ เช่น ละอองหญ้า วัชพืช  ละอองเกสรดอกไม้  ไรฝุ่นบ้าน (พบอยู่ตามพรม ที่นอน เฟอร์นิเจอร์หรือของเล่นที่ทำด้วยนุ่น หรือเป็นขน ๆ) เชื้อรา (พบสปอร์ตามพุ่มไม้  ในสวน ห้องน้ำ ห้องครัว ในที่ชื้น) แมลงสาบและสัตว์เลี้ยงในบ้าน (สารก่อภูมิแพ้อยู่ในน้ำลาย ขุยหนังที่ลอกหรือรังแค ขนสัตว์ ปัสสาวะ และมูลสัตว์) อาหาร (ได้แก่ นมวัวและผลิตภัณฑ์จากนมวัว ไข่ กุ้ง หอย ปู ปลา ถั่วลิสง งา สีผสมอาหาร สารกันบูดในอาหาร)
    สิ่งระคายเคือง เช่น ควันบุหรี่ ควันท่อไอเสีย ควันไฟ ควันธูป ฝุ่นละออง มลพิษในอากาศ (ก๊าซที่เกิดจากการเผาไหม้ของรถยนต์ ก๊าซโอโซนที่พบมากในเมืองใหญ่) สเปรย์ ยาฆ่าแมลงหรือวัชพืช อากาศเย็นหรืออากาศเปลี่ยน กลิ่นฉุด ๆ สารเคมี (ภายในบ้าน ที่ทำงาน และโรงงาน)
    ยา ได้แก่ แอสไพริน  ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์  ยาลดความดันกลุ่มปิดกั้นบีตา 
    การติดเชื้อของทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ไซนัสอักเสบ ทอนซิลอักเสบ หลอดลมอักเสบ หลอดลมฝอยอักเสบ เป็นต้น
    การออกกำลังกาย อาจชักนำให้เกิดอาการหอบหืดกำเริบในผู้ป่วยบางราย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การออกกำลังจนเหนื่อยหรือหักโหมเกินไป
    ความเครียดทางจิตใจ เช่น ความเครียดจากปัญหาเศรษฐกิจ การงาน ครอบครัว รวมทั้งอารมณ์ซึมเศร้า  ความเศร้าโศกจากการสูญเสียคนที่รัก  เป็นต้น
    ฮอร์โมนเพศ  พบว่าผู้หญิงระยะเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ (puberty) ระยะก่อนมีประจำเดือน  หรือขณะตั้งครรภ์ มักมีโรคหืดกำเริบ  (ในช่วงสัปดาห์ที่ 24-36 ของการตั้งครรภ์)
    โรคกรดไหลย้อน น้ำย่อยหรือกรดที่ไหลย้อนลงไปในหลอดลมอาจทำให้โรคหืดกำเริบได้บ่อย

อาการ

มักมีอาการแน่นอึดอัดในหน้าอก หรือหอบเหนื่อยร่วมกับมีเสียงดังวี้ดคล้ายเสียงนกหวีด (ระยะแรกจะได้ยินช่วงหายใจออก ถ้าเป็นมากขึ้นจะได้ยินทั้งช่วงหายใจเข้าและออก) อาจมีอาการไอ ซึ่งมักมีเสมหะใสร่วมด้วย

บางรายอาจมีเพียงอาการแน่นอึดอัดในหน้าอก หรือไอเป็นหลักโดยไม่มีอาการอื่น ๆ ชัดเจนก็ได้ อาการไอดูคล้ายไข้หวัด หวัดภูมิแพ้ หรือหลอดลมอักเสบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะแรกเริ่มของโรคนี้ ผู้ป่วยอาจมีอาการไอมากตอนกลางคืนหรือเช้ามืด ในช่วงอากาศเย็นหรืออากาศเปลี่ยน หรือวิ่งเล่นมาก ๆ เด็กเล็กอาจไอมากจนอาเจียนออกมาเป็นเสมหะเหนียว ๆ และรู้สึกสบายหลังอาเจียน

ผู้ป่วยอาจมีอาการภูมิแพ้ เช่น คัดจมูก คันคอ เป็นหวัด จาม หรือผื่นคันร่วมด้วย หรือเคยมีประวัติเป็นโรคภูมิแพ้มาก่อน

ในรายที่เป็นเพียงเล็กน้อยถึงปานกลาง มักจะมีอาการเป็นครั้งคราว และมักกำเริบทันทีเมื่อมีสาเหตุกระตุ้น ผู้ป่วยที่มีอาการหายใจลำบากจะลุกขึ้นนั่งฟุบกับโต๊ะหรือพนักเก้าอี้และหอบตัวโยน

ในรายที่เป็นรุนแรงมักมีอาการต่อเนื่องตลอดทั้งวันจนกว่าจะได้ยารักษา จึงจะรู้สึกหายใจโล่งสบายขึ้น

ในช่วงที่ไม่มีอาการกำเริบ ผู้ป่วยจะรู้สึกสบายเช่นคนปกติทั่วไป

ผู้ป่วยบางรายที่เป็นโรคหืดรุนแรง เช่น เคยหอบรุนแรงจนต้องไปรักษาที่ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลบ่อย เคยต้องใส่ท่อหายใจช่วยชีวิต ต้องใช้ยาสเตียรอยด์ชนิดกินหรือฉีด หรือต้องใช้ยากระตุ้นบีตา 2 ชนิดออกฤทธิ์สั้น สูดมากกว่า 1-2 หลอด/เดือน ถ้าขาดการรักษาหรือได้รับยาไม่เพียงพอในการควบคุมอาการ  อาจมีอาการหอบอย่างต่อเนื่องเป็นชั่วโมง ๆ ถึงวัน ๆ แม้จะใช้ยารักษาตามปกติที่เคยใช้ ก็ไม่ได้ผล  เรียกว่า ภาวะหืดดื้อ หรือ หืดต่อเนื่อง  (status asthmaticus) ผู้ป่วยจะมีอาการหายใจลำบาก ทำให้ร่างกายขาดออกซิเจนและมีการคั่งของคาร์บอนไดออกไซด์ เกิดภาวะเลือดเป็นกรด มีอาการสับสน หมดสติ ในที่สุดหยุดหายใจ และหัวใจหยุดเต้น เสียชีวิตในเวลารวดเร็ว

อาการที่เข้าข่ายเป็นโรคหืด

ควรสงสัยว่าเป็นโรคหืด  ถ้าผู้ป่วยมีอาการข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    มีเสียงหายใจดังวี้ดคล้ายเสียงนกหวีดบ่อยครั้ง คือ มากกว่าเดือนละ 1 ครั้ง
    มีอาการไอ รู้สึกเหนื่อยง่าย หรือมีเสียงหายใจดังวี้ดขณะวิ่งเล่น  หรือออกกำลังกาย
    ไอตอนกลางคืน โดยที่ไม่ได้เป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ
    มีอาการต่อเนื่องหลังอายุ 3 ปี
    อาการกำเริบหรือเป็นมากขึ้น เมื่อมีสิ่งเร้าหรือสาเหตุกระตุ้น เช่น ละอองเกสร  ขนสัตว์ สเปรย์ บุหรี่ ไรฝุ่นบ้าน ยา การติดเชื้อทางเดินหายใจ ออกกำลังกาย ความเครียด
    เวลาเป็นไข้หวัดมีอาการต่อเนื่องนานเกิน 10 วัน หรือมีอาการไอรุนแรง หรือไอนานกว่าคนอื่นที่เป็นไข้หวัด
    อาการดีขึ้นเมื่อใช้ยารักษาโรคหืด
    มีพ่อแม่พี่น้องเป็นโรคหืดหรือโรคภูมิแพ้อื่น ๆ เช่น หวัดภูมิแพ้ ผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้


ภาวะแทรกซ้อน

ที่พบได้ค่อยข้างบ่อย ได้แก่ ภาวะหมดแรง (exhaustion) ภาวะขาดน้ำ ปอดแฟบ (atelectasis) การติดเชื้อ (หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ)

ที่ร้ายแรง คือ ภาวะการหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน ซึ่งพบในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงและเป็นสาเหตุของการเสียชีวิต

ภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่อาจพบได้ เช่น ภาวะปอดทะลุ, ภาวะมีอากาศในประจันอกและใต้หนัง (mediastinal and subcutaneous emphysema), ภาวะหัวใจล้มเหลวดังที่เรียกว่า โรคหัวใจเหตุจากปอด (cor pulmonale), เป็นลมจากการไอ (tussive syncope), ภาวะทางเดินหายใจอุดกั้นเรื้อรัง 

ในหญิงตั้งครรภ์ ถ้าเป็นโรคหืดที่ไม่สามารถควบคุมอาการได้ อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ ทารกคลอดก่อนกำหนด ทารกน้ำหนักตัวน้อย ทารกตายระยะใกล้คลอดและหลังคลอด


การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกายเป็นหลัก

การตรวจร่างกายขณะที่ไม่มีอาการ มักจะไม่พบสิ่งผิดปกติ

ขณะที่มีอาการหอบ มักได้ยินเสียงหายใจดังวี้ด ๆ ใช้เครื่องฟังตรวจปอดจะได้ยินเสียงหายใจออกยาวกว่าปกติและมีเสียงวี้ด (wheezing) กระจายทั่วไปที่ปอดทั้ง 2 ข้างในช่วงหายใจออก (ถ้าหอบมากจะได้ยินเสียงวี้ดทั้งในช่วงหายใจเข้าและออก) ชีพจรเต้นเร็ว มักไม่มีไข้ ถ้ามีไข้แสดงว่าอาจมีโรคติดเชื้อ เช่น ไข้หวัด หลอดลมอักเสบร่วมด้วย หรืออาจมีปอดอักเสบแทรกซ้อน

ในรายที่เป็นรุนแรงจะมีอาการหอบรุนแรง ซี่โครงบุ๋ม แอ่งไหปลาร้าบุ๋ม ตัวเขียว สับสน หมดสติ ใช้เครื่องฟังปอดอาจไม่ได้ยินเสียงวี้ด เนื่องจากมีภาวะอุดกั้นรุนแรงจนลมหายใจผ่านเข้าออกน้อย

ในรายที่เป็นโรคหืดเรื้อรังมานานอาจพบหน้าอกมีความหนา (ความยาวจากด้านหน้าถึงด้านหลัง) กว่าปกติที่เรียกว่า อกโอ่ง บางรายอาจพบหน้าอกโป่งเหมือนอกไก่

ในการประเมินความรุนแรงของโรค แพทย์จะทำการทดสอบสมรรถภาพของปอด (ดูค่า FEV1 และ PEF)*

กรณีที่ยังวินิจฉัยไม่ได้ชัดเจน แพทย์อาจทำการตรวจเพิ่มเติม เช่น การสูดสาร methacholine กระตุ้นให้หลอดลมตีบ (methacholine challenge), การกระตุ้นให้อาการกำเริบด้วยการออกกำลังกาย หรือการสูดอากาศเย็น (provocative testing for exercise and cold-induced asthma), การทดสอบภาวะภูมิแพ้ (allergy testing) โดยการตรวจเลือดหรือทดสอบผิวหนัง การตรวจหาปริมาณอีโอซิโนฟิล (eosinophil ซึ่งเป็นเม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่ง) ในเสมหะ, เอกซเรย์ปอด เป็นต้น

* FEV1 (forced expiratory in one second) หมายถึง ปริมาตรอากาศที่หายใจออกแรง ๆ ใน 1 วินาที โดยใช้เครื่องมือที่มีชื่อว่า เครื่องวัดปริมาตรอากาศหายใจ (spirometer)

PEF (peak expiratory flow) หมายถึง อัตราการไหลของลมหายใจออกสูงสุด หลังจากสูดหายใจเข้าเต็มที่ โดยใช้เครื่องมือที่มีชื่อว่า เครื่องวัดการไหลของลมหายใจออกสูงสุด (peak flow meter)


การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะให้การดูแลรักษาดังนี้

1. เมื่อมีอาการหอบหืดกำเริบฉับพลัน ให้ยาขยายหลอดลมชนิดสูด (เช่น ยากระตุ้นบีตา 2) ทันที เพื่อบรรเทาอาการ ถ้ายังไม่ทุเลา สามารถให้ซ้ำได้อีก 1-2 ครั้งทุก 20 นาที

หากผู้ป่วยรู้สึกหายดี แพทย์จะทำการประเมินอาการ สาเหตุกระตุ้น และประวัติการรักษาอย่างละเอียด

2. ในกรณีที่มีประวัติเป็นโรคหืดและมียารักษาอยู่ประจำ ถ้าผู้ป่วยมีอาการตอนกลางวันไม่เกิน 2 ครั้ง/สัปดาห์ สามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้เป็นปกติ  และไม่มีอาการตอนกลางคืน  ก็ให้การรักษาแบบกลุ่มที่ควบคุมโรคได้ (ดูตาราง "การแบ่งระดับของการควบคุมโรค") โดยให้ใช้ยาที่เคยใช้อยู่เดิมต่อไป

3. ในกรณีที่ผู้ป่วยเพิ่งมีอาการครั้งแรกและไม่เคยได้รับยารักษามาก่อน แพทย์จะให้ยารักษา (ส่วนใหญ่ใช้ยาชนิดสูดพ่นเป็นพื้นฐาน บางรายอาจให้ยาชนิดกินร่วมด้วย) ด้วยชนิดและขนาดมากน้อยตามระดับความรุนแรงของโรค นอกจากนี้แพทย์จะทำการตรวจสมรรถภาพของปอด  ให้สุขศึกษาและคำแนะนำในการปฏิบัติตัวต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิธีการใช้ยาที่ถูกต้อง และการหลีกเลี่ยงสาเหตุกระตุ้น

4. แพทย์จะติดตามผู้ป่วยทุก 1-3 เดือน เพื่อประเมินอาการและปรับเปลี่ยนการรักษาที่เหมาะสมตามอาการในแต่ละช่วง

5. แพทย์จะรับตัวผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาล ถ้าผู้ป่วยมีอาการกำเริบและมีลักษณะข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้

    ไม่ตอบสนองต่อการรักษาข้างต้นภายใน 1-2 ชั่วโมง มีอาการหอบต่อเนื่องมานานหลายชั่วโมง หรือมีภาวะขาดน้ำร่วมด้วย
    มีอาการหอบรุนแรง ซี่โครงบุ๋ม ปากเขียว มีอาการสับสน ซึม หรือพูดไม่เป็นประโยค
    มีประวัติเคยเป็นโรคหืดรุนแรง เคยรับการรักษาในห้องอภิบาลผู้ป่วย (ไอซียู) เนื่องจากโรคหืดมาก่อน กำลังกินหรือเพิ่งหยุดกินยาสเตียรอยด์ หรือใช้ยาบีตา 2 ออกฤทธิ์สั้นสูดบ่อยกว่าทุก 3-4 ชั่วโมง
    มีอาการหอบเหนื่อยที่สงสัยว่าเกิดจากสาเหตุร้ายแรงอื่น ๆ เช่น เช่น มีไข้และใช้เครื่องฟังตรวจปอดมีเสียงกรอบแกรบ (crepitation) หรือสงสัยว่าเป็นปอดอักเสบ หรือหลอดลมฝอยอักเสบ, มีอาการเท้าบวม หลอดเลือดคอโป่ง ความดันโลหิตสูง หรือสงสัยมีภาวะหัวใจวาย, มีอาการเจ็บหน้าอกรุนแรง มีประวัติเป็นโรคหัวใจ หรือสงสัยเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย เป็นต้น ในกรณีนี้ แพทย์จะทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น เอกซเรย์ปอด ตรวจสมรรถภาพของปอด ตรวจเลือด ตรวจเสมหะ ตรวจคลื่นหัวใจ เป็นต้น

6. ในรายที่วินิจฉัยว่าเป็นโรคหืดกำเริบรุนแรง หรือภาวะหืดต่อเนื่อง มีแนวทางในการรักษาดังนี้

    ให้ออกซิเจน และสารน้ำ (น้ำเกลือ)
    ให้ยาขยายหลอดลม ออกฤทธิ์สั้น ชนิดสูด
    ให้สเตียรอยด์ชนิดสูดในขนาดสูงกว่าเดิม
    ในรายที่มีอาการรุนแรงปานกลางและมากให้สเตียรอยด์ชนิดฉีดหรือกิน
    เมื่ออาการดีขึ้น (มักได้ผลภายใน 36-48 ชั่วโมง) ก็ให้กินต่อจนครบ 5 วัน
    ในรายที่หอบรุนแรงจนเกิดภาวะทางเดินหายใจล้มเหลว อาจต้องใส่ท่อหายใจและเครื่องช่วยหายใจและแก้ไขภาวะผิดปกติต่าง ๆ พร้อมกัน

เมื่อควบคุมอาการได้แล้ว แพทย์จะนัดติดตามดูอาการภายใน 2-4 สัปดาห์

7. ผู้ป่วยที่เป็นโรคหืดทุกราย แพทย์จะพิจารณาให้การรักษาระยะยาวเพื่อควบคุมอาการให้น้อยลง ป้องกันอาการกำเริบรุนแรงเฉียบพลัน ฟื้นฟูสมรรถภาพของปอดให้กลับคืนสู่ปกติ ป้องกันภาวะแทรกซ้อน ป้องกันการเกิดภาวะทางเดินหายใจอุดกั้นอย่างถาวร โดยมีแนวทางการดูแลรักษาดังนี้

(1) ประเมินความรุนแรงของโรค โดยพิจารณาจากอาการแสดง (ความถี่ของอาการกำเริบตอนกลางวัน และตอนกลางคืน) ร่วมกับการตรวจสมรรถภาพของปอด (ดูค่า FEV1 และ PEF)*

(2) ให้ยารักษาโรคหืด ซึ่งมีอยู่ 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มยาบรรเทาอาการ ซึ่งเป็นยาที่ออกฤทธิ์ขยายหลอดลม (เช่น ยากระตุ้นบีตา 2) และกลุ่มยาควบคุมโรค ซึ่งเป็นยาที่ออกฤทธิ์ต้านการอักเสบ ช่วยลดการอักเสบและการบวมของผนังหลอดลม (เช่น ยาสเตียรอยด์) แพทย์จะเลือกใช้ชนิดและขนาดของยาตามระดับของการควบคุมโรค ดังนี้

    กลุ่มควบคุมได้ ให้การรักษาตามขั้นตอนเดิมต่อไปอย่างน้อย 3 เดือน แล้วค่อย ๆ ปรับลดยาลงทีละน้อย จนกว่าจะใช้การรักษาขั้นที่ต่ำสุดที่ยังสามารถควบคุมอาการได้
    กลุ่มควบคุมได้บางส่วน และกลุ่มควบคุมไม่ได้ แพทย์จะปรับเพิ่มขั้นตอนการรักษาจนกว่าจะสามารถควบคุมอาการได้ภายใน 1 เดือน โดยก่อนปรับยา จะทบทวนว่าผู้ป่วยมีการใช้ยาตามสั่ง และใช้ถูกวิธีหรือไม่ รวมทั้งได้หลีกเลี่ยงสาเหตุกระตุ้นหรือไม่ และแก้ไขให้ถูกต้องเสียก่อน

หลังจากควบคุมอาการได้แล้ว จะติดตามผลการรักษาต่อไปทุก 1-3 เดือน และปรับขั้นตอนการรักษาให้เหมาะกับระดับของการควบคุมโรค ซึ่งสามารถแปรเปลี่ยน (ดีขึ้นหรือเลวลง) ไปได้เรื่อย ๆ

ในเด็กที่มีสาเหตุจากสารก่อภูมิแพ้ ซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้และอาการไม่ดีขึ้นหลังการใช้ยาหรือไม่สามารถทนต่อผลข้างเคียงของยา แพทย์อาจพิจารณาให้การรักษาด้วย การขจัดภูมิไว (desensitization)**

(3) ให้การรักษาโรคที่พบร่วม เช่น หวัดภูมิแพ้ ไซนัสอักเสบ ทอนซิลอักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ โรคกรดไหลย้อน เป็นต้น

(4) แนะนำให้หลีกเลี่ยงสิ่งเร้าหรือสาเหตุกระตุ้นและการปฏิบัติตัวต่าง ๆ (อ่านเพิ่มเติมที่หัวข้อ "การป้องกัน" ด้านล่าง)

(5) ติดตามผลการรักษาผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องและทำการตรวจสมรรถภาพของปอดเป็นระยะ ในรายที่เป็นโรคหืดรุนแรงหรือมีอาการกำเริบบ่อย  แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยใช้เครื่องวัดการไหลของลมหายใจออกสูงสุด (peak flow meter)  ไปตรวจเองที่บ้านทุกวัน เพื่อตรวจภาวะหลอดลมตีบซึ่งจะพบก่อนมีอาการแสดงนานเป็นชั่วโมงถึงเป็นวัน ผู้ป่วยจะได้รีบใช้ยารักษาหรือไปพบแพทย์ปรับยาให้เหมาะสม  นอกจากนี้แพทย์ยังแนะนำให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ปีละครั้ง

ผลการรักษา  ส่วนใหญ่สามารถควบคุมอาการได้ดี

ถ้ามีอาการเริ่มเป็นตั้งแต่วัยเด็ก เมื่อโตขึ้นหรือย่างเข้าวัยหนุ่มสาว อาการอาจทุเลาจนสามารถหยุดการใช้ยาสูดบรรเทาอาการได้ แต่บางรายเมื่ออายุมากขึ้นก็อาจมีอาการกำเริบได้อีก

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยกลุ่มนี้อาจมีการอักเสบของหลอดลมอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่ไม่มีอาการหอบเหนื่อยแล้ว หากขาดการให้ยาควบคุมโรค (ลดการอักเสบ) ก็อาจเกิดภาวะทางเดินหายใจผิดปกติและอุดกั้นในระยะยาวได้ ดังนั้น ถึงแม้จะมีอาการทุเลาแล้วก็ควรติดตามรักษากับแพทย์อย่างต่อเนื่อง

ส่วนในรายที่มีอาการมาก จำเป็นต้องได้รับยาอย่างเพียงพอ หากขาดยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับยาสเตียรอยด์มาก่อน ก็อาจมีอาการกำเริบรุนแรงเฉียบพลัน ถึงขั้นกลายเป็นภาวะหืดดื้อ เป็นอันตรายได้

ปัจจุบันพบว่า ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องจะมีอัตราตายต่ำ

* FEV1 (forced expiratory in one second) หมายถึง ปริมาตรอากาศที่หายใจออกแรง ๆ ใน 1 วินาที โดยใช้เครื่องมือที่มีชื่อว่า เครื่องวัดปริมาตรอากาศหายใจ (spirometer)

PEF (peak expiratory flow) หมายถึง อัตราการไหลของลมหายใจออกสูงสุด หลังจากสูดหายใจเข้าเต็มที่ โดยใช้เครื่องมือที่มีชื่อว่า เครื่องวัดการไหลของลมหายใจออกสูงสุด (peak flow meter)

** บางครั้งก็เรียกว่า อิมมูนบำบัด (immunotherapy) โดยการฉีดยาทดสอบว่าแพ้สารอะไร  แล้วฉีดสารนั้นทีละน้อย ๆ แต่บ่อย ๆ เพื่อลดการแพ้ วิธีนี้ใช้ได้ผลดีในเด็ก  ส่วนในผู้ใหญ่ได้ผลไม่สู้ดี  ข้อเสียคือ  ต้องใช้เวลารักษานาน  ราคาแพง  และอาจมีอาการแพ้ที่รุนแรงถึงขั้นเกิดภาวะช็อกจากการแพ้ (anaphylactic shock) หรือโรคหืดกำเริบรุนแรงได้ จำเป็นต้องฉีดในที่ ๆ มีความพร้อมในการช่วยเหลือถ้าเกิดการแพ้  โดยหลังฉีดสารบำบัดแต่ละครั้งควรเฝ้าสังเกตดูอาการอย่างน้อย 30 นาที

การดูแลตนเอง

หากสงสัย เช่น มีอาการแน่นอึดอัดในหน้าอก หรือหอบเหนื่อยร่วมกับมีเสียงดังวี้ด ๆ คล้ายเสียงนกหวีด หรือผู้ที่มีประวัติใช้ยารักษาโรคหืดอยู่เป็นประจำ มีอาการหอบหืดกำเริบทั้งที่ได้ใช้ยาตามที่แพทย์แนะนำ ควรรีบไปพบแพทย์

เมื่อตรวจพบว่าเป็นโรคหืด ควรดูแลตนเองดังนี้

1. ปฏิบัติตัวตามที่แพทย์แนะนำ ดังนี้

    ติดตามรักษากับแพทย์เป็นประจำ ตรวจสมรรถภาพของปอดเป็นระยะ ใช้เครื่องวัดการไหลของลมหายใจออกสูงสุด (peak flow meter) ตรวจเองที่บ้านทุกวัน (สำหรับผู้ที่แพทย์แนะนำ) เรียนรู้วิธีใช้ยาให้ถูกต้อง (โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิธีสูดพ่นยา หากทำไม่ถูก การรักษาก็จะไม่ได้ผล) และใช้ยาตามขนาดที่แพทย์แนะนำ
    พกยาบรรเทาอาการติดตัวเป็นประจำ หากมีอาการกำเริบ ให้รีบสูดยา 2-4 หน (puff) ทันที ถ้าไม่ทุเลาอาจสูดซ้ำทุก 20 นาที อีก 1-2 ครั้ง ถ้ายังไม่ทุเลาควรไปพบแพทย์โดยเร็ว อย่าปล่อยให้หอบนานอาจเป็นอันตรายได้
    ดื่มน้ำอุ่นมาก ๆ อย่าให้ขาดน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะที่ไอมีเสมหะเหนียว หรือมีอาการหอบเหนื่อย
    ทุกครั้งที่สูดยาสเตียรอยด์ ควรบ้วนปากด้วยน้ำสะอาดทันที เพื่อป้องกันไม่ให้ยาตกค้างที่คอหอย ซึ่งทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคเชื้อราในช่องปาก (ดู "โรคเชื้อราในช่องปาก มุมปากเปื่อยจากเชื้อรา" เพิ่มเติม)
    อย่าซื้อยาชุดหรือยาลูกกลอนมาใช้เอง เพราะยาเหล่านี้มักมีสเตียรอยด์ผสม แม้ว่าอาจจะใช้ได้ผล แต่ต้องใช้เป็นประจำ ซึ่งทำให้มีผลข้างเคียงร้ายแรงตามมาได้  อย่างไรก็ตาม ถ้าเคยใช้ยาเหล่านี้มานาน ห้ามหยุดยาทันที อาจทำให้มีอาการหอบกำเริบรุนแรงหรือเกิดภาวะต่อมหมวกไตวิกฤติ (ดู "โรคช็อก" เพิ่มเติม) ได้ ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ทราบเพื่อหาทางค่อย ๆ ปรับลดยาลง
    ฝึกหายใจเข้าออกลึก ๆ (โดยการเป่าลมออกทางปาก ให้ลมในปอดออกให้มากที่สุด) เป็นประจำ จะทำให้รู้สึกปลอดโปร่งสดชื่น อาจช่วยให้อาการดีขึ้นได้
    ลดน้ำหนัก ถ้ามีน้ำหนักเกิน

2. ถึงแม้อาการทุเลาแล้ว ก็ห้ามหยุดยา หรือปรับลดยาเองตามอำเภอใจ จนกว่าแพทย์จะสั่งปรับยาให้ มิเช่นนั้น อาจทำให้โรคกำเริบรุนแรง เป็นอันตรายได้

3. หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้และสิ่งระคายเคือง กระตุ้นให้โรคกำเริบ (อ่านเพิ่มที่หัวข้อ "การป้องกัน" ข้อที่ 1 หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้และสิ่งระคายเคือง)

4. หากมีอาการไม่สบาย ไม่ว่าจะเป็นอะไร ควรปรึกษาแพทย์และใช้ยาที่แพทย์แนะนำเท่านั้น ไม่ควรซื้อยามาใช้เอง เพราะอาจทำให้โรคหืดกำเริบ หรือเป็นอันตรายได้

5. ผู้ที่มีอาการกรดไหลย้อน ซึ่งอาจกระตุ้นโรคหืดกำเริบได้ ควรกินยารักษาและปฏิบัติตัวในการป้องกันไม่ให้เกิดอาการกรดไหลย้อน

6. หมั่นดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ด้วยการออกกำลังกายที่เหมาะสม บำรุงอาหารสุขภาพ รู้จักผ่อนคลายความเครียด นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

7. ควรไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    มีไข้สูง หรือมีอาการหนาวสั่นร่วมด้วย
    มีอาการหอบหืดกำเริบ 
    เจ็บแน่นหน้าอก 
    ไอมีเสมหะข้นเหลืองหรือเขียว
    มีอาการไม่สบายที่จำเป็นต้องใช้ยารักษา ห้ามซื้อยามาใช้เอง เพราะมียาหลายชนิดที่ทำให้หอบหืดกำเริบได้
    ขาดยารักษาโรคหืด เช่น ยาหาย ยาหมดก่อนวันนัด
    ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินที่บ้าน ถ้ากินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ


 

ลงประกาศฟรี ติดอันดับ Google โฆษณาฟรี ประกาศฟรี ขายฟรี ลงประกาศขายบ้าน ขายที่ดิน ขายคอนโด ขายรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าอุตสาหกรรม อาหารเสริม เครื่องสำอางค์ สถานที่ท่องเที่ยว ลงโฆษณาฟรี google